เรื่องที่ 4 โรคที่มาพร้อมกับหนู

หนูบ้าน ดูเหมือนจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่แสนจะไม่น่ารักของเกือบทุกครัวเรือน เพราะนอกจาก หนู จะก่อความเดือดร้อนรำคาญ เที่ยวกัดแทะสิ่งของภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า หรือแม้แต่กระทั่งลักขโมยอาหารไปกินแล้ว หนู ยังเป็น พาหะของโรคต่าง ๆ อีกมากมายหลายโรคด้วยด้วย

 

กาฬโรค ถือเป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่เรามักจะนึกถึงเมื่อนึกถึงโรคที่เกิดจากหนูค่ะ  เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเก่าแก่ที่มีมายาวนาน ในประวัติศาสตร์มีประวัติการแพร่ระบาดของกาฬโรคหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็คร่าชีวิตผู้คนนับแสนนับล้าน กาฬโรคนั้นเป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดในหนู และในสัตว์ฟันแทะอื่นๆ ที่น่ากลัวก็คือ มันสามารถติดต่อมาถึงคนได้ โรคนี้มีหมัดหนูที่อาศัยบนตัวหนูเป็นพาหะ แต่ตัวการที่ทำให้เกิดโรคนี้จริง ๆ ก็คือแบคทีเรียที่ชื่อ Yersinia pestis

กาฬโรคติดต่อมายังคนได้หลายช่องทางค่ะ เช่น ถูกหมัดหนูกัด สัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคนี้ สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคนี้ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการโลหิตเป็นพิษ มีไข้ มีอาการทางประสาท ต่อมน้ำเหลืองบวม และอาจมีอาการอักเสบแบบมีเลือดออก และมีเนื้อตายร่วมกับการขยายใหญ่ของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด หากไม่ได้รักษาก็อาจเสียชีวิตได้

โรคเลปโทสไปโรซิส

บางคนเรียก โรคเลปโทสไปโรซิส นี้ว่า “โรคฉี่หนู” เพราะเข้าใจว่าสัตว์ที่นำโรคนี้มาคือหนูเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ โรคนี้เป็นโรคที่แพร่ระบาดในฤดูฝน ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกิดจากแบคทีเรีย ชื่อเลปโทสไปรา (Lepto spira interrogans) ซึ่งอาศัยอยู่ในสัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ แมว สุนัข ไม่ได้มีแต่เฉพาะในหนูเท่านั้น การติดโรคจะเกิดจากการสัมผัสฉี่ของสัตว์ต่าง ๆ และไม่ปรากฏว่าติดต่อจากคนสู่คน อาการของโรคเลปโทสไปโรซิส จะมีอาการไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามตัวและที่สำคัญคือ จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขา น่อง นอกจากนี้แล้วจะมีอาการปวดศีรษะ วิธีหลีกเลี่ยงโรคนี้คือหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำท่วมขัง ถ้าจำเป็นต้องย่ำก็ต้องสวมรองเท้ากันน้ำ และล้างมือเท้าให้สะอาดทันทีที่ทำได้

โรคฮันทาไวรัส

ฮันทาไวรัส มีสัตว์ฟันแทะหลายชนิดเป็นพาหะ จากการสำรวจนั้นพบว่ามีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในหนูชนิดต่าง ๆ แม้การ เป็นโรคนี้ในประเทศไทยยังไม่มากนัก แต่ก็เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากปัจจุบันการระบาดของโรคอาจมากับชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เช่น จากประเทศจีน พม่า เกาหลี รัสเซีย ศรีลังกา พม่า ศรีลังกา เป็นต้น องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปี มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคนี้ทั่วโลกประมาณ 60,000-150,000 รายค่ะ โรคนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่มอาการได้แก่ โรคไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต (Hemorrhagic fever with renal syndrome, HFRS) และ โรคติดเชื้อไวรัส ฮันทาที่ระบบหัวใจและทางเดินหายใจ (Hantavirus cardiopulmonary syndrome, HCPS) อาการของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวด ศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือปวดเอวมาก ตาแดง มีจุดเลือดออก ปัสสาวะน้อย ตัวเย็น ความดันเลือดต่ำ ช็อก โอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง

หนูตามท้องนาและหนูบ้านจัดเป็นรังโรคของไวรัสชนิดนี้ โดยเชื้อไวรัสจะปะปนอยู่ในปัสสาวะ อุจจาระและน้ำลายของหนู คนติดเชื้อได้โดยการสัมผัสโดยตรงหรือสูดเอาละอองจากสิ่งขับถ่ายของหนูเข้าไป

โรคซัลโมเนลโลซิส (Salmonellosis)

โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร แต่ก็เกี่ยวข้องกับหนูในฐานะที่หนูเป็นรังโรค โรคซัลโมเนลโลซิส เกิดจากแบคทีเรียซัลโมเนลลาหลายสายพันธุ์ เช่น Salmonella typhimurium, S. enteritidis เป็นต้น เป็นการติดเชื้อเฉียบพลันในลำไส้ แหล่งรังโรคอันสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากหนูคือ เป็ด ไก่ และสัตว์เลี้ยง

ไข้หนูกัด (Rat bite fevers)

ถ้าเราถูกหนูกัด เราอาจจะแค่เป็นแผลธรรมดา แต่ถ้าโชคร้ายกว่านั้น หนูที่เรากัดมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย เราก็อาจจะได้รับเชื้อโรคร้ายจากหนูเป็นของแถมก็ได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า (ซึ่งเกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งหนู) หรือเราอาจจะเป็นโรคไข้หนูกัด ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในตัวหนูที่ชื่อ Spirillum minus อาการของโรคนี้จะเริ่มต้นจากเป็นไข้หนาวสั่นทันทีทันใด ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง บางคนมีจุดเลือดออกหรือตุ่มหนอง ข้อบวมแดงและปวด ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคสครับไทฟัส

สครับไทฟัส (Scrub typhus หรือ mite-borne typhus) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียจำพวกริกเกตต์เซีย Orientia tsutsugamushi หรือ R. tsutsugamushi ค่ะ มีไรเป็นพาหะนำโรค ไรเหล่านี้อาศัยบนตัวสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระต่าย เป็นต้น เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งอาจจะเกิดโดยบังเอิญ โดยถูกพาหะนำโรคที่มีเชื้อกัด อาการที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผากมีไข้สูง หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว อาเจียน ปวดท้อง ท้อง ร่วง ปวดกระบอกตา ไต ตับ ม้ามโต และอาจพบแผลบริเวณที่ถูกไรกัด

โรคมิวรีนไทฟัส

มิวรีนไทฟัส (Murine typhus หรือ Flea-borne typhus) เกิดจากเชื้อริกเกตต์เซียที่ชื่อ Rickettsiae typhi  ค่ะโดยที่เชื้อชนิดนี้อยู่ในตัวหมัด เมื่อหมัดหนูกัดคนก็จะถ่ายมูลออกมา เชื้อจะเข้าสู่บาดแผลที่ถูกกัด ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อย และมีผื่น อาการของโรคจะรุนแรงน้อยกว่าสครับไทฟัส

โรคพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืดในหนูทำให้เกิดโรคในคนหลายชนิดค่ะ ยกตัวอย่างเช่น  พยาธิตืดหนู (Hymenolepis diminuta) ทำให้เกิดโรค Hymenolepiasis diminuta (หรือโรค Rat tapeworm infection) พยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nana) ทำให้เกิดโรค Hymenolepiasis nana เป็นต้น

พยาธิตัวตืด เหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของหนู โดยไข่พยาธิจะปะปนออกมากับอุจจาระ เมื่อหมัดหนูหรือแมลงปีกแข็งกินไข่พยาธิเข้าไป ตัวอ่อนจะเจริญอยู่ในตัวหมัด เมื่อหนูหรือคนกินหมัดเข้าไป (หมัดหนูร่วงลงในอาหาร คนกินอาหารนั้นเข้าไป) ตัวอ่อนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ของหนูและคน หากมีพยาธิในร่างกายเราไม่มากก็จะไม่มีอาการอะไร แต่ถ้ามีพยาธิมาก ก็จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน น้ำหนักตัวลด ไม่มีกำลัง มีอาการทางประสาทคล้ายลมบ้าหมู นอนไม่หลับ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้สึกหิว คันบริเวณจมูกและทวารหนัก นอกจากนี้อาจพบอาการอุจจาระร่วงและมีเลือดปน ร่วมทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ รายที่ความต้านทานต่ำจะเกิดอาการแพ้ได้

นอกจากหนูที่เราไม่ได้เลี้ยงจะพาโรคมาให้เราแล้ว หนูสายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราก็ยังสามารถพาโรคภัยมาให้เราได้เช่นกัน เช่น โรคเชื้อราที่ผิวหนังของหนูแกสบี้ก็สามารถติดต่อมายังคน และทำให้เราเป็นโรคผิวหนังได้ ดังนั้น  ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวัง และควรกำจัดปัจจัยที่จะทำให้เกิดช่องทางที่จะทำให้หนูเข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านเรือนของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ