วิธีป้องกันโรคฉี่หนู

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิธีป้องกันโรคฉี่หนู

  1. ควบคุมและกำจัดหนูในบริเวณที่พักอาศัยของคน โดยเฉพาะในบริเวณบ้านพักอาศัย ร้านอาหาร ตลาด สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยว และในนาข้าว เนื่องจากหนูเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ
  2. ติดตามข่าวสารของทางการอยู่เป็นระยะ ๆ ว่าพื้นที่ใดมีการระบาดของโรคฉี่หนูอยู่บ้าง ถ้าพบว่ามีการระบาดในพื้นที่ของตน ก็ควรเพิ่มการระมัดระวังเป็นพิเศษ
  3. พยายามลดปริมาณขยะเท่าที่ทำได้ รักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือนอยู่เสมอ อย่าให้มีขยะและเศษอาหารตกค้าง อันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของหนู ส่วนวิธีการอื่น ๆ ที่เราสามารถทำได้คือ ไม่ถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะลงน้ำ (ควรรวบรวมใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้แน่น), หาภาชนะหรือถุงขยะที่มีฝาปิดมาใช้เพื่อรวบรวมถุงขยะ (แต่ถ้าหาไม่ได้ ให้วางถุงขยะให้ห่างจากสุนัขหรือสัตว์อื่นที่อาจมาคุ้ยถุงขยะให้แตกและให้สูงกว่าบริเวณที่น้ำท่วมถึง), การติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้นำขยะไปทำลายให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เป็นต้น
  4. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อไปจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด
  5. ควรดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ด้วยความร้อนทันที และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  6. เพื่อป้องกันเชื้อโรค ควรล้างผักผลไม้ด้วยน้ำที่สะอาด ภาชนะที่นำมาใช้ใส่อาหารควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง ไม่รับประทานผักดิบ ๆ แต่ควรนำมาต้มหรือผัดให้สุกก่อน ส่วนผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนนำมารับประทาน นอกจากนี้น้ำแข็งก็ควรเลือกแบบที่สะอาด เพราะเชื้อโรคฉี่หนูสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำแข็ง
  7. ควรเก็บหรือใช้ฝาปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด รวมถึงการปิดฝาโอ่งน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินและฉี่ทิ้งไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว
  8. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืนที่ไม่มีฝาปิด (ถ้าจำเป็นจะต้องนำมาอุ่นให้เดือดเสียก่อน เพื่อให้เชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่ในอาหารถูกทำลาย)
  9. ห้ามกินน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงน้ำท่วม (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ต้องกรองน้ำและต้มน้ำให้ร้อนจัดเสียก่อน) และหลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำหรือใช้น้ำในแหล่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น แหล่งน้ำที่เป็นที่กินน้ำของโค กระบือ สุกร
  10. ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน ให้ทำความสะอาดและปิดแผลด้วยปลาสเตอร์ ระวังอย่าให้บาดแผลโดนน้ำ และหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ หรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึง (ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูตเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่ขา แต่ถ้าไม่มีรองเท้าบูต อาจใช้ถุงพลาสติกสะอาดหรือวัสดุกันน้ำอื่น ๆ ห่อหรือคลุมขาและเท้าหรือบริเวณที่มีบาดแผลเอาไว้ก็ได้)
  11. รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือเมื่อไปแช่น้ำหรือเดินย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
  12. ควรสวมชุดป้องกันเสมอ (รองเท้าบูต รองเท้ายางหุ้มข้อ ถุงเท้ายาง ถุงมือยาง กางเกงกันน้ำ) เมื่อต้องสัมผัสกับน้ำ เช่น ต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะตามตรอก ซอก คันนา ท้องนา, ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด, ทำงานในน้ำหรือท้องไร่ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค
  13. ไม่เดินลุยน้ำลุยโคลนหรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึงเป็นเวลานานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง และควรระวังอย่าให้น้ำไม่สะอาดกระเด็นเข้าตา จมูก หรือปาก เมื่อพ้นจากน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดหรือฟอกสบู่และชำระล้างร่างกายด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด
  14. เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรแยกที่อยู่อาศัยของคนกับบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน เช่น การทำคอกกั้นเพื่อไม่ให้มีสัตว์เข้ามาเพ่นพ่านในบริเวณบ้าน ภาชนะใส่น้ำหรืออาหารสำหรับสัตว์ ห้ามนำมาใช้ร่วมกับคน เป็นต้น
  15. ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ฯลฯ
  16. ในสัตว์มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไม่ให้สัตว์ที่ติดเชื้อเกิดแสดงอาการ แต่วัคซีนดังกล่าวอาจไม่ได้ป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ ดังนั้น แม้จะฉีดวัคซีนให้สัตว์แล้ว สัตว์เหล่านั้นก็ยังสามารถรับเชื้อโรคและมาแพร่เชื้อสู่คนได้ในที่สุด
  17. ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาดของโรคฉี่หนูในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยว การตั้งค่ายของกองทหาร นักเรียน นักศึกษา หรือเป็นนักสำรวจที่มีภารกิจที่ต้องลุยน้ำ ฯลฯ และไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้ แนะนำให้รับประทานยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูตั้งแต่ในวันแรกที่เข้าไปในพื้นที่ โดยให้รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม ทุกสัปดาห์ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพ้นภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อแล้วค่อยหยุดรับประทานยา
  18. สำหรับในคนมีวัคซีนสำหรับป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้ แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก เพราะในการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้เพียงบางสายพันธุ์ย่อยเท่านั้น ถ้าเกิดไปรับเชื้อสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ที่ไม่มีในวัคซีน ก็จะทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคได้ในที่สุด อีกทั้งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกเชื้อสายพันธุ์ย่อยก็เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ย่อยมีมากกว่า 250 ชนิด ซึ่งอาจต้องฉีดเป็นร้อยเข็ม และการหาวัคซีนให้ครบทุกเชื้อสายพันธุ์ย่อยก็เป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญการฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ป้องกันโรคไปตลอดชีวิตเหมือนวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคอื่น ๆ จึงไม่มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน
  19. ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคฉี่หนูแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรคในครั้งนั้นได้เกือบตลอดชีวิต แต่ภูมิคุ้มกันนี้ไม่ได้ป้องกันต่อเชื้อสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ถ้าได้รับเชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ก็จะกลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก
  20. สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ควรให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์เรื่องโรคฉี่หนูแก่ประชาชนให้เข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายของโรค สาเหตุ วิธีการติดต่อ การป้องกัน และควบคุมโรค, จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาด, ค้นหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ เช่น แหล่งน้ำ ฟาร์ม โรงงาน รวมทั้งสัตว์ที่ติดเชื้อ แล้วให้แก้ไขการปนเปื้อนเชื้อห้ามการใช้ชั่วคราว, ตรวจแหล่งน้ำดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ (ถ้าเป็นท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป) เป็นต้น