ทำความรู้จักโรคฉี่หนู

 

 

การวินิจฉัยโรคฉี่หนู

  • แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคฉี่หนูได้จากอาการที่แสดงของผู้ป่วย จากการตรวจร่างกาย รวมทั้งประวัติอาชีพการทำงาน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การสัมผัสกับแหล่งน้ำต่าง ๆ และอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยเสริม ได้แก่
  • การตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจซีบีซี (CBC) ซึ่งจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ บางรายอาจสูงถึง 50,000 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำลง, การตรวจดูค่าการทำงานของตับ (พบขึ้นสูงเล็กน้อย), การตรวจค่าการตกตะกอนของเลือด (Erythrocyte sedimentation rate – ESR) ซึ่งจะพบค่าขึ้นสูง, การตรวจค่าน้ำดี (พบค่าขึ้นสูง), การตรวจค่าน้ำย่อยในตับอ่อน (อาจขึ้นสูง ถ้ามีตับอักเสบร่วมด้วย), ในรายที่เป็นรุนแรง ค่าการแข็งตัวของเลือดและค่าการทำงานของไตจะผิดปกติ โดยจะมีค่าสารของเสียในเลือดสูงขึ้น
  • การตรวจปัสสาวะ (พบสารไข่ขาว เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว ซึ่งปกติจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในปัสสาวะ)
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง (ในรายที่ปวดศีรษะรุนแรงหรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวในน้ำไขสันหลังสูงขึ้น และอาจพบสารไข่ขาวสูงขึ้นด้วย)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะกับโรคฉี่หนู คือ การเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง หรือจากปัสสาวะ และการตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) จากการทดสอบทางน้ำเหลือง (มีอยู่หลายวิธี เช่น IgM ELISA, Microscopic agglutination test (MAT), Macroscopic slide agglutination test ( MSAT), Latex agglutination test, LEPTO dipstick test เป็นต้น โดยมักพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ขึ้นสูง) แต่การตรวจเหล่านี้จะต้องใช้เวลานาน ในการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น แล้วพิจารณาให้การรักษา โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะต่อเชื้อโรค

การแยกโรค

  • อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว นอกจากจะต้องนึกถึงสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ สครับไทฟัส ไทฟอยด์ มาลาเรีย ไข้เลือดออก กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ถุงน้ำดีอักเสบ และท่อน้ำดีอักเสบแล้ว ยังต้องนึกถึงโรคฉี่หนูไว้ด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการตาแดงหรือดีซ่านร่วมด้วย หรือพบผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม
  • โรคนี้โดยส่วนใหญ่กว่า 90% ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีอาการของดีซ่านร่วมด้วย จนบางครั้งแพทย์มักวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดเชื้อไวรัส ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดเชื้อไวรัส แพทย์จะตรวจดูด้วยการบีบน่องของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน่องมาก แพทย์จะสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรคฉี่หนู และจะสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งพบได้ประมาณ 10% ผู้ป่วยมักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองจัด จนบางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัส แต่มีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ คือ ผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสมักจะไม่มีไข้เมื่อมีอาการดีซ่าน ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคฉี่หนูจะมีไข้สูงในขณะที่มีอาการดีซ่าน และมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไตวาย (ปัสสาวะออกน้อย) เลือดกำเดาไหล หรือมีจุดจ้ำเขียวร่วมด้วย